พ.ศ.2481 แผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ในขณะที่การพาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติไทยเริ่มมีการตื่นตัวและเจริญก้าวหน้า ปัจจัยสำคัญที่จะประกันความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาบ้านเมืองก็คือ การจัดการและการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน เพราะบุคคลที่อยู่ในฐานะผู้จัดการและนักบริหารเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในการที่จะนำเอาทรัพยากรของชาติมาใช้ให้ได้ผลตอบแทนอย่างดีที่สุด ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งจัดการและบริหารก็จะต้องมีความรู้ทางวิชาชีพและประสบการณ์ประกอบกัน |
|||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
|
คณะฯเปิดสอนครั้งแรกในปี 2482 โดนเป็นแผนกวิชาการบัญชีและพาณิชย์ ของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปีถัดมา 2483 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศตั้งเป็นแผนกอิสระวิชาการบัญชีและพาณิชย์ 3 ปีต่อมา คือในปี 2486 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงสถาปนาแผนกอิสระวิชาการบัญีและพาณิชย์เป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 |
|
กระนั้นก็ตามคณะฯ ก็ยังใช้อาคารเรียนของคณะอักษรศาสตร์อยู่ประกอบกับอยู่ในช่วงของสงคราม งบประมาณขาดแคลน อาคารเรียนหลังแรกของคณะฯ สร้างขึ้นระหว่างสงครามเป็นอาคารเรียนชั้นเดียวมุงจาก กว้างราวๆ 6-8 เมตรยาวประมาณ 40 เมตร เป็นอาคารเรียนที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอาคารเรียนของสถาบันใดได้เลย แต่ทว่าชาวคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในยุคนั้นก็มีความปลาบปลื้มปีติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับอาคารเรียนของตนเองถึงกับขนานนามว่า “กระท่อมสีฟ้า” |
“ตึกเรียนของบัญชีโดยเฉพาะยังไม่มีเราอาศัยเรียนในตึกอักษรศาสตร์ ใช้ตึกทั้งปีกเลยทีเดียวความที่พวกเราบัญชีมีมากกว่า บางครั้งจึงดูคล้ายกับว่าเป็นเจ้าของตึกเสียเอง อย่างไรก็ดีเราก็สนิทกับพวกพี่ ๆ เพื่อน ๆ อักษรศาสตร์มากเหมือนกัน...” คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต รุ่น 3
|
“จบจากเตรียมฯ ก็ขึ้นเป็นนิสิตบัญชีในต้นปี 2487...ขณะนั้นยังอยู่ในภาวะสงครามพันธมิตรเริ่มบุกทางอากาศ.. ห้องเรียนปี 1 ไม่ได้เรียนที่ตึกอักษรศาสตร์ เขาปลูกเรือนหลังยาวให้พวกเราเฟรชชี่ไว้เรียนโดยเฉพาะ แต่เราก็เรียกกันเสียโก้ว่า ตึกจาก เมื่อขึ้นปี 2 จึงได้ไปเรียนที่ตึกอักษรศาสตร์และในระหว่างนั้นก็มีการก่อสร้างตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีขึ้นใหม่เป็นตึก 2 ชั้น มีตราเภตราพิมพ์สีฟ้าอยู่หน้าตึกสวยงามมาก...” สุเมธ สัมมัตตัวนิช รุ่น6
|
“โดยเหตุที่ท่าน (พระยาไชชยศสมบัติ) ไม่ชอบที่จะไปต่อรองงบประมาณกับคณะอื่นในมหาวิทยาลัย ดังนั้นอาคารหรือบริเวณจึงมีจำกัด เริ่มด้วยการมีอาคารแรกของคณะฯ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมุงหลังคาจาก หลังตึกอักษรศาสตร์หลังแรก เพราะสร้างในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้ใช้งานเพียงปีสองปี มหาวิทยาลัยก็ปิดเพราะภาวะสงครามและหลังจากนั้นก็ใช้ไม่ได้ต้องกลับไปอาศัยอาคารอักษรศาสตร์อยู่อีกถึง 4 ปี” ศาสตรจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ รุ่น 7
|
|
|
ตึกเรียนถาวรหลังแรกของคณะฯ สร้างเสร็จในปี 2492 ด้วบงบประมาณ 1 ล้านบาทเป็นตึก 2 ชั้นนับเป็นตึกเรียนประจำคณะฯ ที่เล็กที่สุดในจุฬาฯ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว ตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าตึกบรมราชกุมารีในปัจจุบัน) แต่นิสิตทั้ง 4 ชั้นปี สามารถศึกษาร่วมกันภายในอาคารเดียว และบรรดาอาจารย์ประจำก็ไม่ต้องเดินไปเดินมาระหว่างตึกอักษรศาสตร์และเรือนจากอีก...ชาวบัญชีในยุคนั้นพากันขนานนามตึกน้อยหลังนี้ว่า “เภตราทิพย์” |
เมื่อเข้าไปเรียนในคณะบัญชีปี 1 ในปี 2491 นั้น เรือนไม้หลังคาจากที่มองเห็นอยู่ท่ามกลางดงหญ้าคาและต้นมะขวิดนั้น ทั้งพื้นและฝาไม้ผุพัง หลังคารั่วเพราะทิ้งร้างไว้ใช้การไม่ได้...."ตึกบัญชีหลังแรกผุดขึ้นท่ามกลางดงหญ้าคาหลังตึกอักษรศาสตร์ มีท้องร่องที่มีจอกและแหน เพราะครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นสวนฝรั่ง แต่เมื่อไม่ได้ทำประโยชน์ก็เหลือแต่ต้นมะขวิดและดงหญ้าคา พวกเราภาคภูมิใจมากที่เรามีที่อยู่ของเราเอง เป็นตึกที่มีขนาดเล็กที่สุดในจุฬาฯ แต่กระนั้นก็ยังใหญ่พอที่จะแบ่งสองห้องให้เป็นที่เรียนของคณะรัฐศาสตร์...” กฤษเนตร พันธุมโพธิ รุ่น 9
|
“ข้าพเจ้าเข้าจุฬาฯ ปี 2491 พอปี 2492 ตึกบัญชีหลังน้อยก็สร้างเสร็จตรงกลางระหว่างตึกอักษรศาสตร์เดิมกับตึกบัญชีมีเรือนไม้อยู่เรือนหนึ่งเคยเป็นที่เรียนของพวกบัญชีกลายเป็นที่ซ้อมฟันดาบของพวกเรา.... รัตนะ ยาวะประภาษ รุ่น 9
|
|
“ท่านอาจารย์เจ้าคุณฯ ได้ขอที่ดินของมหาวิทยาลัย รวมเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ เพื่อสร้างอาคารเรียนใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 แต่การก่อสร้างอาคารเรียนแห่งนี้ซึ่งก็คือที่ตั้งของคณะฯ ในปัจจุบัน มีอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากเป็นชุมชนของชาวสามย่าน ผู้เช่าไม่ยอมออกจากที่ดิน เกิดการฟ้องร้องโดยกระบวนการยุติธรรมอยู่สี่ปีก็ยังไล่ที่ไม่ได้ จนเกิดเหตุการณ์อัคคีภัยเพลิงไหม้บ้านของชุมชนที่เหลืออยู่จนเกือบหมดสิ้น เป็นเหตุให้ทางผู้อยู่อาศัยกล่าวหาว่าทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้เห็นในการเกิดอัคคีภัยครั้งนั้น ชาวบ้านที่มีอาวุธครบมือก่อการประท้วง เข้าล้อมตึกอธิการบดีและทำลายทรัพย์สินอาคารสำนักงานเลขาธิการของจุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ หลายคนที่ผ่านไปมาถูกทำร้ายหรือด่าว่าเสียดสีต่างๆ นานา” ศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระ รุ่น 7
|
|
งบประมาณที่คณะฯ ได้รับในปี 2502 นั้น สามารถก่อสร้างได้เฉพาะ “ตึกหนึ่ง” คืออาคารไชยยศสมบัติ 1 เท่านั้น จนกระทั่งในปี 2509 คณะฯ จึงได้งบประมาณเพิ่มเติมจนสามารถสร้างอาคารไชยยศสมบัติ 2 และอาคารไชยยศสมบัติ 3 ได้ |
“พวกเราเข้าเรียนในคณะฯ ในปี 2502 ท่านเจ้าคุณฯ เป็นคณบดี...ใน 186 คน ของพวกเรามีหลายแบบ บางคนบ้าเรียน บางคนบ้ากีฬา บางคนบ้าร้องเพลงเชียร์ บางคนบ้าเป็นดาราหน้ากล้อง ฯลฯ...
รุ่น 20
|
“พอเราเข้าเป็นน้องใหม่ สดใสได้เพียงปีเดียว ยังไม่ทันหายเห่อจุฬาฯ เลย พอขึ้นปี 2 เราต้องย้ายเข้ามาเรียนที่ตึกใหม่ที่สามย่านบ้างบางวิชา ความรู้สึกของพวกเราขณะนั้น มีความรู้สึกว่ามันไกล๊ไกล บ้านน้อกบ้านนอก ใครๆ ก็เรียกกันว่านอกเมือง พวกนอกเมืองก็มี บัญชีกับรัฐศาสตร์ เวลาจะไปตึกเก่าหรือเข้าไปในจุฬาฯ ก็เรียกว่าไปในเมือง ตอนนั้นพวกเราไม่ค่อยอยากย้ายไปอยู่ตึกใหม่เท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ตึกใหม่ของเรานั้นใหญ่โต มีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าตึกเก่าตั้งแยะ แต่เราคิดถึงห้องเรียนเก่าของเราที่ตึกอักษรศาสตร์ คิดถึงโรงอาหารที่มีอาหารอร่อยๆ คิดถึงโรงไม้กลางสระน้ำที่เป็นทั้งห้องพักนักกีฬา ห้องพยาบาล และเวทีรำวงเวลามีงานรับน้อง ระยะแรกๆ เราต้องไปเรียนตึกเก่าบ้าง ตึกใหม่บ้าง เวลาจะไปจะมาแต่ละทีต้องผจญภัยกันหลายรูปแบบ ต้องบุกป่าฝ่าดง (ป่าละเมาะตรงศาลาพระเกี้ยวปัจจุบัน) ข้ามหนองน้ำ ลำธาร (ธารน้ำครำ เฉอะแฉะ) ผ่านเมืองร้าง (ซากปรักหักพังของบ้านเรือน ซึ่งเพิ่งจะรื้อถอนไปได้ไม่นาน ฐานส้วมผุๆ พังๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เป็นที่ติดตามาถึงปัจจุบัน บางครอบครัวยังไม่ยอมไปง่ายๆ ก็ทู่ซี้อยู่ทั้งๆ ที่ไม่มีหลังคาหรือฝาบ้านก็มี บางคนย้ายไปแล้วก็ยังวนเวียนกลับมาขุดคุ้ยหาของเก่าก็มาก) |
“ผ่านโรงนึ่งปลาทู เล้าเป็ดเล้าไก่ เล้าหมู ต้องผจญภัยสัตว์ดุร้าย (ห่านที่วิ่งมาจิกเวลาเผลอ) ที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดก็คือผัวเมียโรคเรื้อนคู่หนึ่งซึ่งไล่เท่าไหร่ๆ ก็ไม่ยอมไป ทั้งๆ ที่เพิงพักของแกเหลือฝาอยู่ไม่กี่ด้าน พวกเราต้องผ่านหน้าบ้านแกทุกวัน ถ้าใครขืนไปทำท่าแสดงอาการรังเกียจหรือกลัว แกจะแกล้งเฉียดเข้ามาใกล้ๆ หรือทำจะมาพูดคุยด้วย พวกเราก็วิ่งกันกระเจิง ความจริงทางอื่นก็พอจะมีให้เดินแต่ทำไมจึงไม่เดิน จำเพาะต้องมาเดินผ่านหน้าบ้านแกทุกวันก็ไม่รู้สิ ตอนหลังพวกเรารู้แกวเวลาเดินผ่านก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ คุยไปตามธรรมดาเหมือนไม่สนใจ แต่ความจริงเดินกันคอแข็ง ตางี้คอยชำเลืองแกตลอดเวลา...
รุ่น 21
|
|